
"Japanese king ratsnake" ราชาแห่งงูญี่ปุ่นเขตร้อน
หนึ่งในงูที่ตัวใหญ่ที่สุดและยาวที่สุดในประเทศญี่ปุ่น สมญานามว่า "งูจงอางจำแลง" นามนั้นคือ คิงแร็ทสเน็ค (King ratsnake - 𝘌𝘭𝘢𝘱𝘩𝘦 𝘤𝘢𝘳𝘪𝘯𝘢𝘵𝘢) งูไม่มีพิษขนาดใหญ่แห่งพื้นที่กึ่งเขตร้อนของเกาะเซ็งคาคุและเกาะโยนากุนิ พรมแดนระหว่างประเทศไต้หวันและหมู่เกาะริวกิวของประเทศญี่ปุ่น นี่ถือว่าเป็นงูขนาดใหญ่ที่งดงามและน่าสะพรึงกับท่าทางของมันไม่น้อย • คนญี่ปุ่นเรียกคิงแร็ทสเน็คว่า "ชูดะ" (シュウダ) แปลว่า "งูเหม็น" ซึ่งในญี่ปุ่นนั้นจะมีงูคิงแร็ทสเน็คอยู่ 2 ชนิดย่อยคือ ชนิดย่อยของจีน (𝘌𝘭𝘢𝘱𝘩𝘦 𝘤𝘢𝘳𝘪𝘯𝘢𝘵𝘢 𝘤𝘢𝘳𝘪𝘯𝘢𝘵𝘢) ที่พบในเกาะเซ็งคาคุใกล้กับไต้หวัน และชนิดย่อยโยนากุนิ (𝘌𝘭𝘢𝘱𝘩𝘦 𝘤𝘢𝘳𝘪𝘯𝘢𝘵𝘢 𝘺𝘰𝘯𝘢𝘨𝘶𝘯𝘪𝘦𝘯𝘴𝘪𝘴) ที่งดงามแบบตัวในภาพนี้จากเกาะโยนากุนิและมีชื่อเสียงมาก ใช้ชื่อเรียกกันว่า "Japanese king ratsnake" หรือโยนากุนิชูดะ (ヨナグニシュウダ) • ซึ่งทั้งคิงแร็ทสเน็คทั้งสองชนิดย่อยนี้ความยาวเฉลี่ยไล่เลี่ยกันคือ 1.5-2.4 เมตรโดยประมาณ ซึ่งตัวคิงแร็ทสเน็คญี่ปุ่นจากเกาะโยนากุนินั้นมีสีสันค่อนข้างเด่นสะดุดตาเนื่องด้วยพวกมันอาศัยอยู่ในตามป่าฝนเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนนั่นเอง ตอนเป็นวัยอ่อนจะมีสีน้ำตาลที่กลมกลืนกับพื้นดิน พอโตขึ้นจะมีสีสันสวยงาม• คิงแร็ทสเน็คญี่ปุ่นได้ชื่อว่า "งูจงอางจำแลง" เนื่องด้วยบริเวณหัวนั้นมีแผ่นเกล็ดขนาดใหญ่เด่นชัด ซึ่งแผ่นเกล็ดขนาดใหญ่นี่เองที่ทำให้ชาวตะวันตกสับสนเข้าใจว่าเป็นงูจงอางมาก่อน เลยตั้งชื่อลักษณะความใหญ่โตเสมือนราชาแบบงูจงอาง ว่า "King ratsnake" หรือราชาแห่งงูสิงผู้กินงูอื่นๆ ซึ่งงูที่มีพฤติกรรมกินงูด้วยกันเองจะมีแผ่นเกล็ดเรียงตัวลักษณะแบบนี้ • คิงแร็ทสเน็คญี่ปุ่นยังมีอีกสมญานามว่า "เทพธิดากลิ่นเหม็น" เพราะเมื่อถูกคุกคามแบบขั้นสุด นอกจากการกัดป้องกันตัวด้วยฟันคมกริบแล้ว ยังปล่อยกลิ่นเหม็นออกมาทำให้สัตว์ที่พยายามจะล่าไม่ว่าจะสุนัขกับแมวจรจัดและนกนักล่าต้องถอยหนีทันทีถ้าโดนปล่อยกลิ่นใส่ • คิงแร็ทสเน็คญี่ปุ่นชอบกินงูชนิดอื่นๆที่มีหลายชนิดด้วยกันทั้งงูมีพิษและงูไม่มีพิษ, หนู, นก, ไข่นก, กบ, กิ้งก่ากับจิ้งเหลน (เหยื่อสุดโปรดในเมนูกิ้งก่าคือ จิ้งเหลนยักษ์คิชิโนะอุเอะ (Kishinoue's giant skink)), ด้วง และตั๊กแตนเป็นอาหารอีกด้วย เรียกว่าเจ้าตัวนี้กินได้หลากหลายมาก สมกับราชาแห่งงูสิงโดยแท้ PIC CR. Jaehyeon-leeReferenceヨナグニシュウダ / Japan herptology https://herpetology.raindrop.jp/elaphe_carinata...Elaphe carinata yonaguniensis (Takara, 1962)/ヨナグニシュウダ/Yonaguni Shu-Dahttps://1pixel.sakura.ne.jp/.../elaphe_c_yonaguniensis.htm
เขียนโดย BKwildlifemaster - สุดยอดแฟนพันธุ์แท้สัตว์เลื้อยคลานปี 2006
โพสต์เมื่อ 26 มี.ค. 25
อ่าน 7 ครั้ง



"เมื่องูเคยมีขา" วิวัฒนาการของสัตว์เลื้อยคลานสุดมหัศจรรย์
"เมื่องูเคยมีขา" วิวัฒนาการของสัตว์เลื้อยคลานสุดมหัศจรรย์"งู" คำๆเดียวที่สามารถทำให้ใครหลายคนขนลุกชูชันได้ไม่น้อยครับ แต่เราอาจจะมองข้ามมันไปว่า งูนั้นเป็นสัตว์ที่มีวิวัฒนาการมายาวไกลมาก มันไม่ใช่สัตว์ที่เพิ่งขึ้นในยุคใหม่เลยครับ แต่พวกมันถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกนี้แล้วอยู่อาศัยเคียงข้างกับไดโนเสาร์และสัตว์ดึกดำบรรพ์มากมายแล้วเหตุใดเล่า งูถึงต้องละทิ้งขาตัวเองไป ทั้งๆที่มันเป็นสัตว์เลื้อยคลานเช่นเดียวกับกิ้งก่าและจระเข้ ? คำตอบนั้นเราต้องย้อนเวลากลับไปดูในช่วงยุครุ่งเรืองของไดโนเสาร์ผ่านฟอสซิลกันครับ จุดเริ่มต้น ฟอสซิลของงูที่เก่าแก่ที่สุดในโลกมีอายุเมื่อ 90 ล้านปีก่อน แต่นักบรรพชีวินวิทยาได้ขุดพบฟอสซิลของสิ่งที่เรียกว่า "รอยต่อแห่งวิวัฒนาการที่หายไป" ในประเทศบราซิล เมื่อพวกเขาพบฟอสซิลของสัตว์เลื้อยคลานที่มีความคล้ายคลึงกับงูมากที่สุด แต่ว่า มันมีขาครับ !มันมีชื่อว่า "เตตระโพโดพริส" (𝘛𝘦𝘵𝘳𝘢𝘱𝘰𝘥𝘰𝘱𝘩𝘪𝘴) ซึ่งมีความหมายของชื่อว่า "งูที่มีสี่ขา" สัตว์เลื้อยคลานที่มีลำตัวและหัวเหมือนงู ไม่ได้เป็นบรรพบุรุษของงูแต่อย่างใดเพียงแค่ญาติใกล้ชิดเฉยๆ แต่กลับมีขายื่นออกมาสี่ข้างเป็นระยางค์เดินเหมือนกับกิ้งก่า ลำตัวยาว 30 เซนติเมตร ซึ่งดูจากรูปทรงของลำตัวและขนาดของขาแล้ว บ่งบอกว่า ญาติสนิทของงูตัวนี้เริ่มจะปรับเปลี่ยนการเคลื่อนไหวจากการมีขาไปใช้ลำตัวในการขยับแทนในทางพันธุกรรมและการอนุกรมวิธาน งูนั้นเป็นสัตว์ที่มีความสนิทกับกิ้บก่ามาก จนทำให้จัดอยู่ในอันดับเดียวกันคือ Order Squamata โดยงูนั้นจะแยกไปอยู่ในสายวิวัฒนาการ จึงทำให้รูปร่างขาของงูไปทางกิ้งก่า มีขาไม่ดีอย่างไรกัน ? แล้วทุกคนสงสัยกันอีกว่า งูมีขาไม่ดีตรงไหนถึงต้องหดขาหายไปจนหมด ทั้งนี้นักบรรพชีวินวิทยาก็ให้คำตอบไม่ชัดเจน แต่ในทางสัตววิทยาแล้ว การไม่มีขาของงูทำให้งูสามารถเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่วขึ้น ทำให้สามารถมุดเข้าซอกหลีบตามจุดต่างๆที่สัตว์อื่นเข้าไม่ถึงเพื่อหลบพักผ่อนหรือวางไข่ รวมไปถึงยังสามารถใช้ลำตัวรับรู้ภัยอันตรายได้ดีกว่าการใช้หูฟังเสียงอีก ซึ่งงูก็ไม่มีหูด้วยเช่นกันทีนี้มีคำถามสำคัญตามมาอีกว่า แล้วงูหดขาคู่ไหนก่อนกัน ? คำตอบคือ ขาคู่หน้าหดไปก่อนครับ เหตุผลนั้นถ้าทุกคนเคยจำภาพงูเวลาเลื้อยอยู่บนพื้นดิน งูค่อนข้างจะมีส่วนหัวและลำตัวแนบติดพื้นกัน ซึ่งพอไม่มีขาหน้า ประสาทรับรู้ที่ส่งผ่านไปยังสยองจะสามารถรับรู้ได้ทางลำตัวผ่านไปยังกระดูกสันโดยตรงได้เลย ทำให้รู้อันตรายเร็วกว่าแล้วยิ่งงูอยู่มาตั้งแต่ช่วงที่มีไดโนเสาร์ด้วย การรับรู้ว่าแรงสั่นสะเทือนของไดโนเสาร์เดินยังดีกว่ามารู้ตัวตอนที่โดนเหยียบหรือว่าโดนจับกินจากไดโนเสาร์ขนาดเล็ก อย่างเช่นงูดึกดำบรรพ์สกุลหนึ่งที่ชื่อว่า "นาจาซ" (𝘕𝘢𝘫𝘢𝘴𝘩) เป็นงูที่มีชีวิตเมื่อ 90 ล้านปีก่อนในยุคครีเตเชียสตอนปลาย มีหลักฐานการหดไปของขาหน้าแต่ยังมีขาหลังอยู่ ซึ่งฟอสซิลติ่งขาหน้ายังพบอยู่ด้านในลำตัว สิ่งที่นาจาซต่างจากเตตระโพโดพริสก็คือ กระดูกซี่โครงที่มีรูปร่างให้เหมาะแก่การขยับตัวไปข้างหน้าด้วยกล้ามเนื้อลำตัว ซึ่งจะเป็นผลให้งูใช้ลำตัวขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ด้วยไม่ต้องใช้ขาขยับตัวอีกอีกต่อไป แล้วนาจาซเหลือขาหลังเอาไว้ทำอะไร ? ซึ่งถ้ามามองดูในด้านการใช้เพื่อพฤติกรรมจำเป็นต่อชีวิตประจำวันแล้ว มันอาจเอาไว้สำหรับช่วยในการล็อคตัวเมียขณะผสมพันธุ์กันก็เป็นได้ครับ เพราะขณะสัตว์เลื้อยคลานผสมพันธุ์กันนั้น ขาหลังจะช่วยในการขยับส่วนอวัยวะเพศให้สอดใส่ได้ แต่ต่อมาเมื่องูหดขาหลังออก งูก็วิวัฒนาการอวัยวะเพศให้แตกออกเป็นสองข้างเพื่อใช้ผสมแบบใช้ข้างใดข้างหนึ่งแทน แต่งูบางจำพวกอย่างงูกลุ่มไพธ่อน (Python) และ (Boa) ยังคงมีติ่งของระยางค์ขาเล็กช่วงท้ายลำตัว เอาไว้สะกิดขณะการผสมพันธุ์กับตัวเมีย เมื่อขาหดไป ฟอสซิลของงูที่ไม่ปรากฎขาทั้งสี่ข้างเก่าแก่ที่สุดเป็นงูดึกดำบรรพ์ที่มีชื่อว่า "ไดนิไลเซีย" (𝘋𝘪𝘯𝘪𝘭𝘺𝘴𝘪𝘢) เป็นงูขนาดกลางประมาณงูหลามบอล (Ball python)และงูหลามวัยเด็ก ที่สามารถยาวได้ 1-3 เมตร ที่มีชีวิตเมื่อ 85 ล้านปีก่อนในอเมริกาใต้ โดยสิ่งที่พวกเขาพบจากฟอสซิลงูดึกดำบรรพ์ตัวนี้คือ ขาหดไปจนหมดแล้วประกอบการพบว่าขนาดของกล่องสมองภายในมีขนาดกว้างขึ้น โดยเฉพาะส่วนของสมองส่วนท้ายที่ใช้ในการควบคุมลำตัวและการเคลื่อนที่ กระดูกหูชั้นกลางก็มีการเจริญให้สามารถรับรู้แรงสะเทือนได้ดีขึ้นแบบงูปัจจุบันทั่วไป ยิ่งสนับสนุนเหตุผลของการหดขาไปของงูอีกด้วย"จากมีขา สู่การไม่มีขา" ทำให้งูเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่แพร่กระจายไปทั่วทุกมุมโลกกว่า 3,800 ชนิด มีหลายรูปร่างทั้งใหญ่และเล็ก พวกที่สวยงามและกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม และก็ยังมีพวกที่มีพิษเพื่อการล่าและป้องกันตัว ทั้งนี้ก็เป็นผลวิถีแห่งชีวิตชักนำให้งูปรับตัวและดำรงชีวิตอยู่จนทุกวันนี้มาตั้งแต่ยุคที่พวกไดโนเสาร์อาศัยอยู่กันแล้วReferenceFossil Solves Mystery of How Snakes Lost Their Legshttps://www.amnh.org/explore/news-blogs/how-snakes-lost-legsHow Snakes Lost Their Legshttps://www.npr.org/.../498575639/how-snakes-lost-their-legsDavid M. Martill; Helmut Tischlinger; Nicholas R. Longrich (2015). "A four-legged snake from the Early Cretaceous of Gondwana"Apesteguía, S.; Zaher, H. (2006). "A Cretaceous terrestrial snake with robust hindlimbs and a sacrum".
เขียนโดย BKwildlifemaster - สุดยอดแฟนพันธุ์แท้สัตว์เลื้อยคลานปี 2006
โพสต์เมื่อ 02 ก.พ. 25
อ่าน 4 ครั้ง


ป้องกันตัวเองเพราะคน วิวัฒนาการของงูเห่าพ่นพิษ
ป้องกันตัวเองเพราะคน วิวัฒนาการของงูเห่าพ่นพิษสิ่งมีชีวิตวิวัฒนาการมาเพื่อการรักษาเผ่าพันธุ์ให้ดำรงคงอยู่ยาวนาน การป้องกันตัวก็เป็นอีกหนึ่งวิธีเพื่อเลี่ยงการโดนทำร้ายและการโดนจับกิน เรื่องของงูเห่าพ่นพิษ (Spitting cobra) ก็ฟังดูน่าสนใจไม่น้อย ที่ต้นกำเนิดพฤติกรรมป้องกันตัวนี้ อาจวิวัฒนาการมาเพื่อป้องกันศัตรูหนึ่งเดียว นั่นก็คือ มนุษย์นักวิจัยด้านสัตว์เลื้อยคลานและบรรพชีวินวิทยา พบว่างูเห่าพ่นพิษนั้นมีมุมองศาการพ่นพิษในลักษณะยิงพิษเข้าตาศัตรูจำพวกไพรเมตอย่างมนุษย์ แม่นกว่าใส่สัตว์ใหญ่อย่างม้าลายกับสิงโตเสียอีก อีกทั้งฟอสซิลงูเห่าพ่นพิษเก่าแก่ที่สุดก็พบในช่วงเวลาเดียวกับมนุษย์ยุคแรกที่เป็นพวกโฮมินิดส์ (Hominid) วิวัฒนาการอีกด้วย ซึ่งคาดว่างูเห่าพ่นพิษรุ่นแรกๆวิวัฒนาการแอฟริกาเพื่อป้องกันการปะทะกับมนุษย์ยุคแรกที่อาจจะเห็นตัวแล้วทำร้ายก่อนหรือจับกินก่อนมันจะเกี่ยวดองกับสาเหตุที่ทำให้วิวัฒนาการนี้ยังไง คำตอบคือ สัตว์หลายชนิดก็วิวัฒนาการมาเพื่อป้องกันการเจอมนุษย์เช่นกัน เป็นเรื่องของการเตือนและยับยั้งไม่ให้ศัตรูที่มีโอกาสกระชากร่างถอยออกไป สัตว์อื่นๆอาจจะฟังคำเตือนตอนแผ่แม่เบี้ย แต่ด้วยมนุษย์นั้นขี้สงสัยเกินไป การแผ่แม่เบี้ยเตือนอาจจะไม่เพียงพอ งูเห่าพ่นพิษจึงวิวัฒนาการเทคนิคป้องกันตัวเพิ่มนั่นเองแหล่งข้อมูลอ้างอิงPhylogenomics Clarifies the Origin of Spitting Cobras (Antonio Gandini)
เขียนโดย BKwildlifemaster - สุดยอดแฟนพันธุ์แท้สัตว์เลื้อยคลานปี 2006
โพสต์เมื่อ 31 ม.ค. 25
อ่าน 6 ครั้ง

สูตรลับตำรับอสรพิษ เมนูแสนโปรดของงูแต่ละประเภท
งูกว่า 3,900-4,000 ชนิดบนโลกนี้ มีนิสัยการกินอาหารเป็นพวกกินเนื้อเป็นอาหารหลักเท่านั้น ซึ่งงูแต่ละชนิดมีนิสัยการกินชนิดเหยื่อที่แตกต่างกันตามกายภาพฟันขากรรไกร และสรีระวิทยาการย่อยอาหารเหยื่อประเภทนั้นๆ งูกินอาหารโดยไม่ต้องเคี้ยวแค่กลืนเข้าไปทั้งตัวแล้วรอกระบวนการย่อยอาหารด้วยการใช้พลังงานสำรองจากการขยับกล้ามเนื้อในร่างกายปรับอุณหภูมิสูงขึ้นเป็น 30 องศาเซลเซียสโดยเฉลี่ยให้ช่วยย่อยอาหาร ใช้เวลาเป็นสัปดาห์ในการย่อยแล้วแต่ขนาดเหยื่อที่กินเข้าไป- งูที่กินหนูเป็นอาหารหลักอย่างพวกงูตระกูลไวเปอร์ (Viper) งูเห่า งูเหลือมและงูหลาม งูตระกูลโบอา งูสิงและงูทางมะพร้าว จัดการเหยื่อทั้งการฉกปล่อยพิษในงูพิษหรือรัดเหยื่อให้ตายในงูไม่มีพิษ- งูกาบหมากหางนิล แม้เป็นงูตระกูลเดียวกับงูสิงและงูทางมะพร้าว แต่ก็ชอบกินพวกค้างคาวตามถ้ำเป็นหลัก- งูจงอาง 4 ชนิด, งูแบนดี้ แบนดี้ (Bandy bandy) และงูตระกูลสามเหลี่ยม (Krait) กินงูชนิดอื่นๆเป็นอาหาร- งูก้นขบตัวเล็กอาศัยในหน้าดินและพื้นดินแฉะ กินพวกงู, เขียดงู และปลาไหลเป็นอาหาร- งูลายสาบคอแดง กินสัตว์จำพวกกบและคางคกเป็นอาหารหลักร่วมกับสัตว์อื่นๆ- งูปล้องทอง เป็นงูต้นไม้ที่แท้จะล่ากินสัตว์ฟันแทะด้วย แต่อาหารโดยทั่วไปเน้นพวกตระกูลนกเป็นหลักมากกว่า- งูเขียวพระอินทร์ เป็นงูต้นไม้ที่มีนิสัยชอบล่าและกินสัตว์จำพวกกิ้งก่าและจิ้งจก- งูกินไข่แอฟริกา มีกล้ามเนื้อกับปลายกระดูกสันหลังช่วงต้นคอที่ช่วยในการเจาะกินไข่แดงภายในเปลือกแข็งๆ- งูกินทาก ชอบกินพวกหอยทากเป็นอาหารหลัก- งูกระด้าง เป็นงูน้ำจืดที่มีอวัยวะตรงจับการเคลื่อนไหวของปลา จึงเป็นพวกสายล่าปลาเป็นอาหาร- งูดิน เป็นงูที่มีลักษณะการกินเป็นแบบดูดงับอาหาร จึงกินพวกมดและตัวอ่อนปลวกเป็นอาหารแหล่งข้อมูลอ้างอิง- Snake is the essential visual guide (DK)- Living Snakes of the World in Color. New York: Sterling Publishers- The thermogenesis of digestion in rattlesnakeshttps://journals.biologists.com/.../The-thermogenesis-of...- https://www.discoverwildlife.com/.../what-do-snakes-eat
เขียนโดย BKwildlifemaster - สุดยอดแฟนพันธุ์แท้สัตว์เลื้อยคลานปี 2006
โพสต์เมื่อ 31 ม.ค. 25
อ่าน 3 ครั้ง

งูม็อคคาซินจีน หนึ่งในงูพิษอันตรายที่สุดในไต้หวัน
ในเอเชียตะวันออกนั้นก็มีงูพิษอยู่ไม่น้อย หลายๆชนิดมีชื่อเสียงจากคำบอกเล่าและความเชื่อไม่น้อย หนึ่งในนั้นคืองูที่ได้สมญานามว่า "งูพิษร้อยก้าว" (Hundred pacer snake) นามว่า งูม็อคคาซินจีน (Chinese moccasin - 𝘋𝘦𝘪𝘯𝘢𝘨𝘬𝘪𝘴𝘵𝘳𝘰𝘥𝘰𝘯 𝘢𝘤𝘶𝘵𝘶𝘴) งูพิษต่อระบบโลหิตที่อันตรายที่สุดในไต้หวัน ที่ยังสามารถพบได้ทั้งจีนตอนใต้และเวียดนามเหนือ นอกจากนี้ยังได้สมญนามว่า "พญางูแห่งไต้หวัน" (King of taiwan's snake) อีกด้วยงูชนิดนี้เป็นพวก Pit viper เหมือนงูกะปะและงูเขียวหางไหม้ พวกมันมีลวดลายเป็นบั้งลายสามเหลี่ยมสลับสีเข้มและอ่อนดูคล้ายกับมอธหรือผีเสื้อกลางคืน ปลายปากแหลมเลยได้ชื่อสามัญจริงว่า "Sharped nosed pit viper" เช่นเดียวกับไวเปอร์ทุกชนิด เขี้ยวพิษของมันงอพับได้ งูชนิดนี้โตเต็มที่อยู่ที่ประมาณ 1-1.5 เมตร แต่ส่วนใหญ่ขนาดตัวไม่เกิน 80 เซนติเมตรงูชนิดนี้มักอาศัยอยู่ในป่าฝนเขตร้อนระดับความสูง 500-1,500 เมตรจากน้ำทะเล งูชนิดนี้ชอบกินพวกสัตว์ฟันแทะเป็นอาหาร ซึ่งเหยื่อใหญ่ที่สุดที่กินได้คือหนูท้องขาว สำหรับพิษนั้น งูชนิดนี้เป็นหนึ่งในงูพิษต่อระบบโลหิตที่อันตรายมาก ในไต้หวันมีโอกาสกัดคนสูงกว่าในจีนแผ่นดินใหญ่ เลยมีการทำเซรุ่มต้านพิษงูชนิดนี้เอาไว้ในทางการแพทย์อีกด้วยแหล่งข้อมูลอ้างอิงhttps://www.snakesoftaiwan.com/deinagkistrodon-acutus.htmlhttps://www.taiwan-panorama.com/Articles/Details...http://www.toxinology.com/fusebox.cfm...
เขียนโดย BKwildlifemaster - สุดยอดแฟนพันธุ์แท้สัตว์เลื้อยคลานปี 2006
โพสต์เมื่อ 31 ม.ค. 25
อ่าน 6 ครั้ง

4 KING COBRA งูจงอางทั้ง 4 ชนิด
บทความ "เรื่องสัตว์น่าสนใจวันนี้" ด้วยเรื่องของการอัพเดทอนุกรมวิธานใหม่ของงูจงอาง (King cobra - 𝘖𝘱𝘩𝘪𝘰𝘱𝘩𝘢𝘨𝘶𝘴 𝘴𝘱.) ที่ตอนนี้ได้รับการจำแนกใหม่ออกจาก 1 ชนิด กลายเป็น 4 ชนิด โดยนักวิจัยได้ตีพิมพ์งานวิจัยลงวารสาร European journal of taxonomy โดยการรวบรวมและศึกษาตัวอย่างของงูจงอางทั่วภูมิภาคทั้งหมด 148 ตัวทั้งโตเต็มวัยและวัยอ่อน กับโครงกระดูกงูอีก 5 โครงมาศึกษาเพิ่มเติม ทำให้พวกเขาแยกงูจงอางทั้ง 4 ชนิดออกดังนี้1.𝘖𝘱𝘩𝘪𝘰𝘱𝘩𝘢𝘨𝘶𝘴 𝘩𝘢𝘯𝘯𝘢𝘩 - ชนิดดั้งเดิมที่มีการอนุกรมวิธานแรกสำหรับงูจงอาง โดยปัจจุบันนี้เป็นชนิดที่พบได้ในเอเชียเขตร้อนแผ่นดินใหญ่อย่างอินเดียตอนเหนือ, เมียนมาร์, จีนเขตร้อน, ไทย, ลาว, เวียดนาม และกัมพูชา2.𝘖𝘱𝘩𝘪𝘰𝘱𝘩𝘢𝘨𝘶𝘴 𝘣𝘶𝘯𝘨𝘢𝘳𝘶𝘴 - ชนิดขนาดใหญ่ที่พบได้ในเขตร้อนกว้างของหมู่เกาะอย่างเขตคาบสมุทรมลายู (ไทยตอนใต้กับมาเลเซีย) , บรูไน, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์3.𝘖𝘱𝘩𝘪𝘰𝘱𝘩𝘢𝘨𝘶𝘴 𝘬𝘢𝘢𝘭𝘪𝘯𝘨𝘢 - ชนิดที่เป็นเอกลักษณ์ พบได้เฉพาะในอินเดียตะวันตกของเขต Western ghats ซึ่งเป็นชีวนิเวศป่าฝนเขตร้อนขนาดใหญ่4.𝘖𝘱𝘩𝘪𝘰𝘱𝘩𝘢𝘨𝘶𝘴 𝘴𝘢𝘭𝘷𝘢𝘵𝘢𝘯𝘢 - ชนิดใหม่ล่าสุดเฉพาะของประเทศฟิลิปปินส์ ที่พบได้ในหมู่เกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ส่วนข้อมูลอื่นๆเชิงลึกสามารถอ่านได้ในวารสารวิจัยครับแหล่งข้อมูลอ้างอิงTaxonomic revision of the king cobra Ophiophagus hannah (Cantor, 1836) species complex (Reptilia: Serpentes: Elapidae), with the description of two new specieshttps://europeanjournaloftaxonomy.eu/.../article/view/2681
เขียนโดย BKwildlifemaster - สุดยอดแฟนพันธุ์แท้สัตว์เลื้อยคลานปี 2006
โพสต์เมื่อ 31 ม.ค. 25
อ่าน 3 ครั้ง

เรื่องน่ารู้ของ "งูกะปะ"
เรื่องน่ารู้ของ "งูกะปะ" บรรดางูพิษในประเทศไทยยอดฮิต หนึ่งในนั้นคือ "งูกะปะ" (Malayan pit viper - 𝘊𝘢𝘭𝘭𝘰𝘴𝘦𝘭𝘢𝘴𝘮𝘢 𝘳𝘩𝘰𝘥𝘰𝘴𝘵𝘰𝘮𝘢) งูพิษต่อระบบโลหิตชื่อดังที่คนในโซเชี่ยลยุคนี้ให้สมญานามว่า "กับระเบิดมีชีวิต" แต่งูตัวนี้มีเรื่องให้น่ารู้กว่าแค่ฉายาครับ และมันมีอะไรน่าสนใจอีกมากที่น้อยคนไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับมันนัก - ชื่อ งูกะปะ เป็นภาษาใต้ที่มีความหมายว่า "งูปากเน่าเหม็น" ซึ่งก็หมายถึงการถูกกัดแล้วเกิดแผลเน่า ส่วนชื่ออื่นๆที่ต่างชาติเรียกกันก็คือ Malayan moccasin และ Malayan ground snake ส่วนชื่อในภาษาอินโดนีเซียจะเรียกว่า "อูลนาร์ทานาห์" (Ulnar tanah) นั่นเอง ซึ่งคำว่าอูลนาร์แปลว่า "งู" ส่วนทานาห์แปลว่า "บก" แปลตรงตัวว่า "งูบก" แม้แต่ภาษาญี่ปุ่นก็เรียกว่า "เซกิชิน โดคุเฮบิ" แปลว่า "งูพิษปากแดง" - ฉายา "กับระเบิดมีชีวิต" มาจากที่มาของชาวสวนยางพาราหรือนักเดินป่าที่เดินเข้าไปในพื้นที่รกที่เต็มไปด้วยกองใบไม้แห้ง แล้วเผลอเหยียบจนโดนกัดเมื่อเหยียบกับระเบิด นั่นคือฉายาที่คนไทยให้ ส่วนชาวต่างชาติให้ฉายามันว่า "Finger rotter" แปลว่า "ตัวทำนิ้วเน่า" ซึ่งในสถิติการโดนงูพิษกัดในไทยจะเป็นงูกะปะกับงูเขียวหางไหม้เสียส่วนมาก - งูกะปะเป็นงูพิษที่มีเขี้ยวยาวที่สุดในประเทศไทยเมื่อเทียบขนาดลำตัว โดยมีเขี้ยวพิษยาวกว่า 10 มิลลิเมตร เป็นรองของงูกาบูนไวเปอร์ของแอฟริกาและงูหางกระดิ่งหลังเพชรตะวันออกจากอเมริกาเหนือ เป็นเขี้ยวลักษณะงอพับได้เฉกเช่นเดียวกับพวกตระกูลไวเปอร์ตัวอื่นๆ พัฒนาเพื่อการล็อคเหยื่อให้สามารถฉีดน้ำพิษเข้าเหยื่อได้- งูกะปะไม่ได้พบแค่ที่ภาคใต้ เป็นงูที่พบได้เกือบทั่วทุกภูมิภาคของไทย จริงๆงูชนิดนี้ยังพบได้ทั้งเวียดนาม, กัมพูชา, ลาว, เมียนมาร์, มาเลเซีย, บรูไน และเกาะสุมาตรา เกาะชวา กับเกาะบอร์เนียว ซึ่งรายงานคนโดนกัดในประเทศไทยบันทึกครั้งแรก พบที่เชียงใหม่นั่นเอง- งูกะปะแม้มีพิษรุนแรง แต่มันก็เป็นหนึ่งในเหยื่อสำคัญของงูพิษขนาดใหญ่กว่าอย่างงูจงอาง, กลุ่มงูสามเหลี่ยม และกลุ่มงูพริกหรืองูปะการังเอเชีย และนักล่าจากบนท้องฟ้าอย่างนกแก๊กและเหยี่ยวรุ้ง ซึ่งถ้าพูดถึงพิษของงูกะปะแล้ว พิษของมันจริงๆเป็นพิษที่ไม่ได้มีผลต่อระบบโลหิต แต่มันมีพิษต่อระบบเนื้อเยื่อที่เรียกว่า "Necrotoxin" เป็นพิษที่ทำลายเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อและเซลล์เม็ดเลือดแดง ซึ่งนั้นก็เป็นสาเหตุของอาการแผลเน่าหลังโดนกัดนั่นเอง - งูกะปะเป็นงูที่คนมักไม่ค่อยชอบนัก ไม่ว่าจะคนไทยหรือชาวต่างชาติก็ได้ยินชื่อเสียงมันมาไม่น้อย เลยทำให้มีคนไม่ค่อยชอบมันเสียเท่าไร แต่งูก็เป็นสัตว์จำพวกหนึ่งที่มีคุณค่าต่อระบบนิเวศ แม้มันถูกเรียกว่ากับระเบิดมีชีวิต แต่ถ้ารู้จักป้องกันตัวหรือรู้ว่าไปที่ๆที่มีงูพิษแน่ก็ต้องระมัดระวังและเรียนรู้จะปฏิบัติตัวถูกเมื่อเจองู - รองเท้าบู๊ทกัดเข้าหรือไม่ ? เขี้ยวงูกะปะกัดเข้าครับ แต่โอกาสที่จะเกิดการติดพิษน้อยกว่าการใส่รองเท้าแตะและรองเท้าผ้าใบ ซึ่งโอกาสที่กัดรองเท้าบู๊ทเข้ามักเป็นการกัดแห้งและปล่อยน้ำพิษปริมาณน้อยกว่าโดนกัดเต็มๆบนเท้าเปล่าหรือรองเท้าอื่น เมื่อถูกงูกะปะกัดควรล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำเปล่า ห้ามล้างแอลกอฮอลล์ เนื่องด้วยแอลกอฮอลล์จะทำให้หลอดเลือดขยายตัวจนพิษซึมได้ดี ใช้วิธีรัดและดามด้วยผ้ากับไม้หรือวัสดุแข็งเพื่อลดการเคลื่อนไหวของส่วนที่โดนกัดแล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล- ในทางการแพทย์ งูกะปะเป็นหนึ่งในงูพิษที่มีเซรุ่มต้านพิษโดยเฉพาะ ซึ่งการที่มีเซรุ่มแก้พิษงูกะปะ บ่งบอกถึงสาธารณสุขทางการแพทย์ที่กระจายครอบคลุมช่วยเหลือผู้ถูกงูพิษกัด ที่น่าสนใจก็คือ สถิติการตายจากการถูกงูกะปะกัดในประเทศไทยนั้น มีผู้ถูกงูกัดคิดอัตราส่วนร้อยเป็น 13.06% ต่อประชากรหนึ่งแสนคน ขณะที่ผู้เสียชีวิตคิดเป็น 0.02% เท่านั้น ! - การที่รู้จักงูชนิดนึง อาจส่งต่อความสำคัญและการระมัดระวังตัวให้มากขึ้น เด็กและผู้สนใจได้ความรู้เรื่องงูอย่างครบถ้วนและดีเยี่ยม ไม่ใช่ว่าเจองูกะปะแล้วต้องเอะอะส่งกลับดาวหรือแบ่งสองมาตรฐานว่างูนี้เป็นมีมดังควรอนุรักษ์ อีกตัวเป็นงูปีศาจควรกำจัดให้พ้นโลกนี้ แค่รู้จักนิสัยและการดำรงชีวิตก่อน นำมาประยุกต์ป้องกันตัวหากต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีโอกาสเจองูกะปะ แหล่งข้อมูลอ้างอิงเอกสาร "การดูแลผู้ป่วยถูกงูกะปะกัด" โดย อานุภาพ เลขะกุล https://thailandsnakes.com/.../malayan-pit-viper.../https://en.m.wikipedia.org/wiki/Calloselasmahttps://www.rama.mahidol.ac.th/poisonce.../th/pois-cov/snakehttps://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC8643212/
เขียนโดย BKwildlifemaster - สุดยอดแฟนพันธุ์แท้สัตว์เลื้อยคลานปี 2006
โพสต์เมื่อ 30 ม.ค. 25
อ่าน 8 ครั้ง

10 เรื่องที่คนไทยเข้าใจผิดเกี่ยวกับ "งูไทย"
เนื่องด้วยปีนี้เป็นปีมะเส็งหรือปีงูเล็ก แอดมินเลยอยากเล่าเรื่องที่คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับงูไทยทั้งสิ้น 10 เรื่องยอดฮิตมาให้ทุกคนในกลุ่มนี่ตัวอะไรทำความเข้าใจกันใหม่ครับ บางคนคิดว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้จนทำให้เกิดข้อมูลผิดพลาดกันแบบปากต่อปาก ข้อความต่อข้อความกันอย่างไม่มีอ้างอิงกัน งั้นไปดูกันเลยว่า 10 เรื่องที่คนไทยเข้าใจผิดกันมีอะไรบ้าง1.งูจงอางร้องไม่ได้ : คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจว่างูจงอางร้องเสียงเหมือนไก่หรือเสียงหัวเราะ แต่อันที่จริงแล้วงูจงอางร้องไม่ได้เหมือนงูทุกชนิด เพราะงูนั้นไม่มีเส้นเสียงและกล่องเสึยงในการเปล่งเสียงร้องนั่นเอง2.งูทะเลไม่ได้กัดคนตายทุกครั้งที่ได้พิษ : งูทะเลเป็นงูที่มีโอกาสกัดแห้งสูงกว่ากัดได้น้ำพิษ เนื่องด้วยเขี้ยวและปากนั้นมีขนาดเล็กเพื่อจับสัตว์น้ำกินเป็นอาหาร แถมพิษออกฤทธิ์ช้ามาก ดังนั้นเมื่อถูกงูทะเลกัดควรไปหาหมอเพื่อรักษาตามอาการทันที ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 25 ของเคสงูทะเลกัดแล้วเสียชีวิต3.งูทางมะพร้าวมีฟัน ! : หลายคนมักชอบล้อหรือตั้งฉายาให้กับงูทางมะพร้าวว่า "เหงือก" เพราะงูชนิดนี้เวลาอ้าปากบางคนเห็นแต่เหงือขากรรไกรขาวๆ แต่จริงๆแล้วงูทางมะพร้าวมีฟันคมกริบมาก กัดทีก็ทำให้เกิดบาดแผลได้เช่นกัน4.งูที่สีสันจัดจ้านสวยงามไม่ได้เป็นงูพิษเสมอไป : คนไทยชอบเข้าใจว่า งูที่มีสีสันสวยๆมักเป็นงูอันตราย ทว่าความจริงแล้วงูไม่มีพิษในไทยหลายชนิดก็สีสันสวยงามไม่แพ้เช่น งูเขียวกาบหมาก5.งูเหลือมในธรรมชาติของไทยเขมือบคนไม่ได้ : เนื่องด้วยมีข่าวงูเหลือมเขมือบคนในเกาะห่างไกลของอินโดนีเซียหลายครั้งเลยทำให้คนไทยหวาดกลัวงูเหลือมมากินคน ซึ่งงูเหลือมในธรรมชาติไทยนั้นตัวยาวเฉลี่ยไม่เกิน 3 เมตรกัน ซึ่งงูเหลือมป่าที่เขมือบคนได้ต้องสัมพันธ์กับขนาดของงูเท่านั้น ซึ่งในอินโดนีเซีย งูเหลือมหลายเกาะตัวใหญ่กว่าคนหลายเท่าอยู่พอประมาณ6.ประเทศไทยมีชนิดงูพิษน้อยกว่างูไม่มีพิษ : เทียบสัดส่วนของชนิดพันธุ์แล้ว งูมีพิษร้ายแรงในประเทศไทยนั้นมีไม่ถึง 70 ชนิด แต่งูไม่มีพิษมีเกือบ 200 กว่าชนิด !7.งูแสงอาทิตย์เป็นงูไม่มีพิษ : คนไทยบางส่วนยังคงเข้าใจผิดว่างูแสงอาทิตย์เป็นงูมีพิษ แม้เรื่องนี้หลายคนจะเข้าใจกันหมดแล้ว แต่ก็มีบางคนยังคงเข้าใจแบบนั้นอยู่ไม่เสื่อมคลายมานานแสนนาน8.ไม่มีพืชหรือต้นไม้ชนิดไหนที่กันงูเข้าบ้านได้ : ต่อให้มีคนปลูกเสล็ดพังพอน ลิ้นมังกร หรือฟ้าทะลายโจรที่มีการกล่าวว่าใช้ไล่งูได้ แต่ความเป็นจริงแล้ว ต้นไม้อะไรก็กันงูไม่ได้สักชนิดเดียวครับ9.งูพิษไม่สามารถผสมกับงูไม่มีพิษ : คนไทยมักมีความเชื่อว่า งูเห่าสามารถผสมพันธุ์กับงูสิงแล้วออกลูกมาเป็นงูพิษร้ายแรงได้ ความเป็นจริงแล้วงูไม่สามารถผสมข้ามจำพวกได้ ยกเว้นงูที่มีลักษณะทางสกุลร่วมเหมือนกัน อย่างงูเหลือมและงูหลาม สามารถผสมออกมาเป็น Bateater ได้10.งูอาฆาตไม่ได้ : คนไทยคิดว่างูนั้นเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ บ้างก็เป็นปีศาจที่มันมีจิตอาฆาตมาตามฆ่าล้างคนในบ้านที่ทำร้ายคู่รักมัน ความจริงแล้วการที่งูตัวนึงไปโผล่บ้านคนได้อาจเป็นเพราะมันตามกลิ่นฟีโรโมนของงูตัวที่ตายก่อนหน้ามาถึงบ้านก็เป็นได้นั่นเองReference10 ความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับ "งู" (Species Index)SuperSCI: ความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับงูhttps://mgronline.com/science/detail/9570000109460‘สวัสดีปีงูเล็ก’ ชวนรู้จัก 10 เรื่อง(ไม่)ลับ ฉบับคนกลัวงูห้ามพลาด!https://www.seub.or.th/bloging/knowledge/2025-1/งูทะเล - คลังข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งhttps://km.dmcr.go.th/c_280Simple Science I ง.งู ไม่ใช่ผู้ร้าย ไขความเข้าใจผิดเกี่ยวกับงู
เขียนโดย BKwildlifemaster - สุดยอดแฟนพันธุ์แท้สัตว์เลื้อยคลานปี 2006
โพสต์เมื่อ 29 ม.ค. 25
อ่าน 6 ครั้ง

"งูกินหาง" 🐍 ความเชื่องมงายที่มนุษย์สร้างขึ้น
กระแสเรื่องของงูกินหางกลับมาอีกครั้งเมื่อมีข่าวออกและมีคนพบเจอเป็นเครื่องรางของขลังนานนับปึ ซึ่งจริงๆแล้ว ความเชื่อเรื่องงูกินหางนั้นเป็นความเชื่อสุดงมงายที่มนุษย์สร้างขึ้นมาโดยการกล่าวอ้างเรื่องความโชคลาภและสิริมงคล วันนี้แอดบิวจะขอเล่าเรื่องงูกินหางในแง่ชีววิทยาและความเชื่องมงายควบคู่กันครับ ความเชื่อ ในหลายวัฒนธรรมทั่วโลกนั้น งูกินหางหรือโอโรโบรอส (Ouroboros) เป็นชื่อเรียกพฤติกรรมของงูที่กินตัวเองจากทางหางเข้าไปจนกลายเป็นห่วงกลมๆ มีปรากฏอยู่ในตำนานของหลายประเทศ เช่น เม็กซิโก อียิปต์ หรือแม้กระทั่งประเทศไทย ซึ่งในแง่ความเชื่อนั้น คนมักเชื่อเรื่องนี้ในแง่ของความไม่สิ้นสุดคนไทยที่เดิมทีเป็นประเทศที่เชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติมายาวนานแต่อดีต ก็จะมองเรื่องนี้เป็นสิริมงคลที่ห้ามลบหลู่ดูแคลน คนไทยจะเรียกกันอีกชื่อว่า "บ่วงนาคบาศ" ที่เชื่อกันว่าเป็นเมตตามหานิยม ใครมีจะช่วยให้แคล้วคลาดปลอดภัย ค้าขายดี รุ่งเรือง มีกินมีใช้ไม่มีวันอด แถมยังพ่วงท้ายมาด้วยข้อเด่นเรื่องการเสี่ยงโชค มีเสน่ห์ต่อเพศตรงข้ามแต่ มันแค่ความเชื่อที่คนไทยคิดกันมาเองล้วนๆ ชีววิทยาอย่างในภาพนี้เป็นรูปแบบผิดธรรมชาติมาก เพราะงูกลืนลำตัวไปจนเกือบถึงช่วงกระเพาะอาหาร ซึ่งน่าจะเกิดจากการที่คนตัดส่วนงูออกครึ่งนึงแล้วยัดเข้าไปขณะเข้ากระบวนสตั๊ฟฟ์ร่างเอาไว้แล้วมาทำเครื่องราง เลยทำให้ไม่เป็นกระบวนการในแบบธรรมชาติในด้านพฤติกรรมแล้ว งูที่กัดหรืองับหางตัวเองนั้น มันจะเกิดจากภาวะความเครียดของงู หรืออีกกรณีก็อาจจะเป็นภาวะทางระบบประสาท ในโลกของสัตว์ไม่ใช่เฉพาะงูแม้กระทั่งสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่เวลามีความเครียดมากๆ หรือว่ามีปัญหาทางระบบประสาทก็สามารถทำร้ายตัวเองได้ แม้กระทั่งมนุษย์ก็สามารถเป็นไปได้เช่นกันดังนั้นหลักการทางธรรมชาตินั้นไม่ได้เป็นแบบงูกินหางที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อตบตาคนที่เชื่ออะไรต่างๆได้ง่ายดายนั่นเอง ควรมีการให้ข้อมูลและวิจารณญาณกันในหมู่คนรอบตัวกันให้มากๆReference"งูกินหาง" สู่ "บ่วงนาคบาศ" แค่งูป่วย หรือคนสร้าง หลอกผู้ศรัทธาว่าของขลังhttps://www.komchadluek.net/news/505133Ouroboros – The Snake That Bites Its Own Tailhttps://www.petmd.com/.../ouroboros-snake-bites-its-own-tailWhy Do Snakes Eat Themselves?https://www.discovermagazine.com/.../why-do-snakes-eat...
เขียนโดย BKwildlifemaster - สุดยอดแฟนพันธุ์แท้สัตว์เลื้อยคลานปี 2006
โพสต์เมื่อ 29 ม.ค. 25
อ่าน 3 ครั้ง

"งูทางมะพร้าว" มีฟันแหลมคม !! เรื่องจริงของงูที่คนไทยล้อมากที่สุด
ก่อนที่จะมีโซเชี่ยล งูทางมะพร้าวก็เป็นงูทางมะพร้าว ไม่ได้สลักสำคัญในบริบทชีวิตประจำวัน ทว่าเมื่อโซเชี่ยลเข้าถึง คนรู้จักงูทางมะพร้าวมากขึ้น แต่รู้จักแบบในเชิงตัวตลกหรือโจ๊กเกอร์ในโลกของงู ทันทีที่รูปงูทางมะพร้าวขึ้นหน้าฟีดในกลุ่ม สิ่งแรกที่จะเจอคือ "พี่ห้าว" "ดารา" "แพนด้า" และที่โดดเด่นคือ "เหงือก" สร้างความเข้าใจผิดว่างูทางมะพร้าวไม่มีฟัน ! แต่ความจริงแล้ว งูทางมะพร้าวเป็นงูที่มีฟันแถมคมกริบด้วย เราจะมารู้จักกับเรื่องที่โซเชี่ยลเข้าใจงูทางมะพร้าวผิดมาตลอด 1.คนเข้าใจว่าไม่มีฟัน : โดยทั่วไปในโซเชี่ยลอาจเห็นภาพงูทางมะพร้าวนอนแกล้งตายหรือตั้งท่าขู่ศัตรูอ้าปากเห็นวงปากขาวๆจนคิดว่าเป็นงูที่ช่องปากมีแต่เหงือกไม่มีฟันสักซี่เดียว แท้จริงแล้วงูทางมะพร้าวมีฟันที่คมกริบในการจับเหยื่อเป็นอาหาร รูปแบบฟันนั้นก็เหมือนงูไม่มีพิษส่วนมากที่เป็นฟันคมเรียงเป็นแถวบนขากรรไกร หากมองใกล้ๆจะเห็นชัดเจน แต่ถ้ามองผิวเผินจะไม่เห็นงูบนโลกนี้ที่ไม่มีฟันเลยจะมีแค่พวกตระกูลงูกินไข่ (Egg eating snake) ของฝั่งทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นงูที่ไม่มีฟันเพื่อสะดวกในการกลืนไข่เข้าไปทั้งฟอง แล้วกลืนเข้าไปในลำคอ โดยมีกระดูกสันหลังพิเศษในการเจาะเปลือกไข่เพื่อดูดกลืนไข่ด้านในจนหมดเหลือแต่เปลือก แล้วจึงค่อยขย้อนเปลือกไข่ทิ้ง2.ทำเป็นห้าวแต่กลับขี้ขลาด : คนไทยชอบมองว่างูทางมะพร้าวทำเป็นเก่ง ไม่มีฟันแล้วมาโชว์ภูมิกัดโน่นนี่ สุดท้ายก็แกล้งตายต่อหน้าศัตรู หลายคนจะมองว่าสัตว์ที่ทำเป็นเก่งแล้วมาแกล้งตายถือว่าขี้ขลาด แท้จริงแล้วการแกล้งตายนี่แหละที่ทำให้เผ่าพันธุ์สัตว์ผ่านสถานการณ์เลวร้ายได้สัตว์แกล้งตายดีต่อตัวอย่างไร ? ในบางครั้งสัตว์ผู้ล่าต้องการจัดการกับเหยื่อที่ลงมือด้วยตัวเองและสามารถสังหารได้ แต่สัตว์ที่ตายจากอุบัติเหตุกะทันหันอาจทำให้ผู้ล่าชะงักและแปลกใจที่จู่ๆสัตว์ตัวดังกล่าวดันมาตายตรงหน้า ขณะเดียวกัน สัตว์ที่แสดงพฤติกรรมนี้ก็จะสื่อให้เนียนด้วยการอ้าปาก ปล่อยร่างกาย และปล่อยกลิ่นจนกว่าจะเลิกสนใจ การแกล้งตายของสัตว์เป็นเทคนิคที่ทำมายาวนานเป็นล้านปีเพื่อให้อยู่รอด 3.ลายแพนด้า หรือ เลียนแบบสัตว์มีพิษ : ลายขาวดำที่อยู่บนช่วงคอของงูทางมะพร้าวนั้น เป็นรูปร่างที่ดูคล้ายคลึงกับหมีแพนด้า แต่ทว่าจริงๆแล้วลายนี้เมื่อหรี่ตาลงมันจะดูคล้ายคลึงกับการเลียนแบบ (Mimicry) ลวดลายลำตัวของแมลงที่มีพิษหรือมองไกลๆก็คล้ายกับลายดอกจันงูเห่าที่โผล่ขึ้นมาเหนือหญ้า เป็นการใช้ลวดลายข่มศัตรูก่อนจะถูกถึงตัว การป้องกันตัวด้วยลวดลายนั้นวิวัฒนาการมายาวนาน สัตว์หลายชนิดเลือกจะทำให้เหมือนกับสัตว์ที่ดูอันตรายกว่าผ่านการคัดสรรรุ่นลูกรุ่นหลาน รุ่นก่อนๆไม่ผ่านการคัดสรรโดยธรรมชาติก็จะโดนจับกิน แต่รุ่นที่ผ่านมาได้ก็จะสามารถเอาตัวรอดจนขยายเผ่าพันธุ์ได้ ถือว่างูทางมะพร้าวประสบความสำเร็จในแง่วิวัฒนาการแล้ว ReferenceCopperhead racer Thai National parkshttps://www.thainationalparks.com/.../coelognathus-radiatusEgg-eating snakes Life is short but Snakes are long https://snakesarelong.blogspot.com/.../egg-eating-snakes...Why Some Animals Play Deadhttps://www.thoughtco.com/why-some-animals-play-dead-373909Mimicry | Britannicahttps://www.britannica.com/science/mimicry
เขียนโดย BKwildlifemaster - สุดยอดแฟนพันธุ์แท้สัตว์เลื้อยคลานปี 2006
โพสต์เมื่อ 29 ม.ค. 25
อ่าน 1 ครั้ง






